สำหรับคนทำอาหาร ภาพจำที่คุณมีกับ “หัวหอม” ก็คงเป็นเรื่องของผักที่มีรูปทรงภายนอกดูน่ารัก แต่ก็แอบซ่อนรสเผ็ดร้อนซาบซ่าไว้ภายใน หั่นทีไรน้ำตาไหลทุกที !! เรียกได้ว่าเป็นผักที่ดูเรียบง่ายแต่ก็มีความน่าสนใจอยู่ในตัวเอง เช่นเดียวกันกับ Onion แห่งวงการสถาปัตย์ บริษัทออกแบบที่มีผลงานโดดเด่นในวิถีดีไซน์ที่ดูเรียบง่ายแต่ก็แฝงไปด้วยรายละเอียดที่ชวนประทับใจและน่าจดจำ สัปดาห์นี้มาพูดคุยกับ คุณสราวุฒิ ปาทาน อินทีเรียร์ดีไซน์เนอร์ จาก Onion
ผลงานออกแบบของ Onion ที่หลายคนน่าจะรู้จักกันดี คือ โรงแรมในกลุ่ม sala boutique (ซึ่งเป็นแบรนด์ในเครือของ SALA Hospitality Group) ได้แก่ sala khaoyai, sala rattanakosin Bangkok, sala ayutthaya รวมถึงรีสอร์ทล่าสุดของเครือศาลาฯ อย่าง SALA Samui Chaweng Beach Resort
“เราถนัดงานแนว Hospitality และ Retail ครับ เช่น โรงแรม รีสอร์ท ร้านอาหาร ร้านค้าและสำนักงาน ส่วนที่พักอาศัย (Residential) ก็มีบ้างนิดหน่อยครับ คืองาน “บ้าน” เป็นงานที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ฟังก์ชั่นหรืออะไรต่างๆ ต้องออกแบบตามความต้องการของเจ้าของบ้านค่อนข้างเยอะ ขณะที่งาน Public Space จะสร้างคาแรคเตอร์และเล่นกับกิมมิคอะไรต่างๆ ได้มากกว่า คือเราชอบงานสนุกๆ และทำงานเหมือนหน่วยจู่โจม เข้าเร็วออกเร็ว ส่วนสไตล์งานหลายคนที่เห็นมักบอกว่า ดีไซน์เรามีความ Modern และ Minimal จ๋ามาก แต่จริงๆ ต้องบอกว่าเราไม่ใช่โมเดิร์นแบบเรียบกริ๊บ แต่เป็นโมเดิร์นที่ต้องมีความ Cozy อยู่ในนั้นด้วย คือไม่ใช่แค่ดีไซน์สวยแต่ต้องอยู่สบายด้วย”
ในทุกงานออกแบบ เราอาจจะไม่ได้เน้นเรื่องการใช้วัสดุที่หลากหลายประเภทมากจนเกินไป แต่เราสนใจเรื่องของการวาง Space ให้ดูสะอาด อยู่สบายและน่าใช้งานมากกว่า โดยสื่อสารผ่าน “ความเป็นระเบียบเรียบร้อย” ในงานดีไซน์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของความเรียบกริ๊บ แต่เป็นเรื่องของการแบ่ง การกั้น หรือมี Line ของการจัดวางฟังก์ชั่นต่างๆ ให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม มีระบบสัญจร มีช่องว่างให้พื้นที่มันหายใจได้ เพื่อส่งผ่านความรู้สึกบาง ซึ่งก็คือ “ความอยู่สบาย” ไปยังผู้ที่เข้ามาใช้พื้นที่
เวลาทำงาน เราจะสนใจเรื่องของการ “สร้างคาแรคเตอร์” ให้เหมาะสมกับงานและกับบริบทนั้นๆ ครับ เริ่มจากการไปดูพื้นที่ก่อนว่า ธรรมชาติ วิว และสิ่งแวดล้อมตรงนั้นเป็นอย่างไร มีอะไรสามารถเก็บไว้ได้บ้าง ที่สำคัญคือ จะไม่ให้งานสถาปัตยกรรมของเราไปข่มใคร มันควรสวยแต่ไม่แปลกแยกหรืออาจจะแปลกบางส่วนแต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความกลมกลืนอยู่ เป็นการเล่าเรื่องแบบ “ดำเนินตาม”สภาพแวดล้อมและบริบท คือผมว่าถ้าเราเข้าไปใน Space ที่ดี บรรยากาศดี มันก็จะทำให้รู้สึกว่าสวยได้โดยภาพรวมนะ ไม่ใช่เด่นที่ตัวสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียว เช่น “ศาลา เขาใหญ่” ซึ่งอยู่ในทำเลที่สวยมาก อยู่บนยอดเขา แต่เราก็ไม่ได้ออกแบบตัวอาคารให้โผล่โดดเด่นขึ้นมาอยู่บนภูเขา กลับกันคือทุกวิลล่าถูกดีไซน์ให้จมลงและดูกลืนไปกับภูเขา ตัวสถาปัตยกรรมถูกรายล้อมไปด้วยธรรมชาติ ให้ผู้เข้าพักได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศและวิวเต็มที่ครับ นอกจากนี้ เราก็เน้นการใช้วัสดุที่มีอยู่ในบริบทของสถานที่นั้นๆ ด้วย เช่น “ศาลา อยุธยา” ถ้าพูดถึงอยุธยาคนก็จะนึกถึงอิฐ ก็ต้องมาคิดต่อว่าจะนำมาออกแบบอย่างไรให้เก๋และนำมาใช้อย่างไรให้ดูร่วมสมัย เพื่อที่จะคงเสน่ห์ของสถานที่นั้นๆ ไว้
ส่วนตัวผมมองว่า ดีไซน์เนอร์ที่ดีไม่ควรมีอีโก้เรื่องดีไซน์ แม้ว่าเราจะไม่ชอบใจนักก็เถอะ เวลาที่โดนเปลี่ยนโน่นนี่ เพราะทุกการเปลี่ยนมันจะกระทบกับทุกอย่างที่ออกแบบไปแล้ว งานดีไซน์เนอร์ไม่ใช่แค่เรื่องการออกแบบแต่มันเป็นเหมือนงานบริหารจัดการและควบคุมทิศทาง แต่ “ไม่ใช่ควบคุมความต้องการของลูกค้า” ไม่ใช่คอยแต่จะบอกว่าไม่ทำ ไม่ได้ ไม่เอา ผมว่าดีไซน์เนอร์ที่ดีมีหน้าที่ฟัง แล้วลองนำเสนอทางเลือก และก็พาลูกค้ากลับมาในทิศทางที่มันควรจะเป็นให้ได้ในที่สุด โดยผ่านการออกแบบในสิ่งที่เป็นตัวเราเข้าไปในงาน
มุมนี้เป็นตัวอย่างของความสดใส สมมุติถ้าเราทำบ้านเป็นสีพื้นแล้วบางจุดมีอะไรที่สวยๆ เป็นสีสัน ก็จะทำให้ดูน่าสบายอารมณ์ ดูมีความหลากหลายขึ้นมานิดนึง หรือถ้าอยากจะเพิ่มความน่าสนใจขึ้นอีกหน่อย ก็อาจจะมีโคมไฟเพดานใหญ่ๆ สักอันห้อยลงมา หรือเติมม่านสีละมุนๆ เข้าไปลดความแข็งกระด้าง ก็จะทำให้ห้องน่ารักขึ้น
ส่วนมุมนี้ ก็เป็นตัวอย่างของมุมสบายๆ คือถ้าเราอยากได้มุมนั่งเล่นในบรรยากาศอบอุ่น ก็ทำเป็นมุมแบบไม้ๆ อย่างนี้ก็ได้ แล้วใส่โซฟา โต๊ะกลาง หมอนอิงสีอ่อนๆ และชั้นวางที่มีดีไซน์บางๆ เข้าไป ก็ให้ความรู้สึกไม่หนักพื้นที่ ถ้าเราเอาพร๊อพหรืออะไรมาจัดวางก็จะดูไม่กวนมาก มันทำให้ห้องดูอบอุ่นน่าอยู่